ตอนที่ 3 - ยุคแห่งการล่าสัตว์เก็บพืชผล

ตอนที่ 3 – ยุคแห่งการล่าสัตว์เก็บพืชผล

enter image description here

ทำไมเราถึงชอบกินของหวานและอาหารที่มีไขมัน?

ทำไมการรักเดียวใจเดียวจึงเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน?

ทำไมสัตว์ตัวใหญ่ๆ อย่างแมมมอธ เสือเขี้ยวดาบหรือจิงโจ้ยักษ์สูง 2 เมตรถึงสูญพันธุ์ไปหมด?

เราะมาหาคำตอบกันในตอนนี้ครับ

Homo Sapiens อย่างพวกเราอยู่กันมาสามยุคสามสมัยเราใช้ชีวิตแบบพนักงานโรงงานหรือพนักงานออฟฟิศมา 200 ปี หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก่อนหน้านั้น เราใช้ชีวิตแบบชาวไร่ชาวนาอยู่ถึง 12,000 ปี และก่อนหน้านั้น เราใช้ชีวิตแบบ “นักล่า-เก็บพืชผล” อยู่ถึง 60,000 ปี ช่วงเวลาหลายหมื่นปีที่เราใช้ชีวิตแบบ Hunter-Gatherers หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า foragers (ผู้ออกหาอาหาร) นั้น มีผลอย่างมากต่อการหล่อหลอมสัญชาติญาณของเราในปัจจุบัน เราจึงควรกลับไปทำความเข้าใจวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนกลุ่มนี้และ “รอยเท้า” ที่เขาได้ทิ้งเอาไว้ ความท้าท้ายอย่างหนึ่งของการศึกษาวิถีของชาว foragers ก็คือนอกจากเครื่องไม้เครื่องมือ และเศษกระดูกแล้ว พวกเขาไม่ได้ทิ้งอะไรไว้ให้เราศึกษาเลย (เพราะสมัยนั้นยังไม่มีภาษาเขียน) นักมานุษยวิทยาจึงถกเถียงกันโดยตั้งอยู่บนสมมติฐานและการอนุมานเอาเสียส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงควรฟังหูไว้หูนะครับ

เหตุผลที่เราโปรดปรานของหวาน

เมื่อครั้งที่บรรรพบุรุษของเราเป็น forager นั้น ผู้ชายจะร้บหน้าที่ “ออกล่า” ส่วนผู้หญิงจะรับหน้าที่ “เก็บของป่า” สมัยนั้นยังไม่มีตู้เย็น อะไรก็ตามที่ล่าหรือเก็บมาได้จึงต้องใช้หรือกินให้หมดภายในวันสองวัน ไม่มีการเก็บอาหารเป็นเสบียงเอาไว้ เมื่ออาหารละแวกนั้นหมดก็ต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อไปเริ่มต้นใหม่ ในทุ่งสะวันนา ที่เราเคยอาศัยอยู่ อาหารหวานที่มีพลังงานสูงนั้นหายากมาก และอาหารหวานชนิดเดียวที่คนสมัยนั้นจะหากินได้ก็คือผลไม้สุก ดังนั้นหากผู้หญิงคนหนึ่งเดินไปเจอต้นไม้ที่มีผลไม้สุกงอมออกอยู่เต็มต้น สิ่งที่ดีที่สุด ที่เธอจะทำได้ก็คือเด็ดมันมากินให้มากที่สุด ก่อนที่ฝูงลิงบาบูนจะมาเจอและขนผลไม้กลับรังไปจนหมด สัญชาติญาณของการกินของหวานและอาหารที่มีไขมันอย่างมูมมามนี้เอง ที่ส่งผลให้มนุษย์ในปัจจุบัน หลงใหลและมักอดใจไม่ไหวเมื่อเจออาหารประเภทนี้

รวมกันเราอยู่

นักมานุษวิทยาเชื่อว่า เหล่า foragers นั้นอยู่กันเป็นชุมชนเล็กๆ ไม่มีความเป็นส่วนตัว ไม่มีทรัพย์สินส่วนบุคคล และแม้กระทั่งลูกก็ไม่ใช่ลูกของใครคนใดคนหนึ่ง! ผู้หญิงคนหนึ่งจะหลับนอนกับผู้ชายหลายคนในเผ่า ด้วยความเชื่อที่ว่าลูกจะได้ส่วนดีจากพ่อแต่ละคนมา พ่อคนหนึ่งอาจจะเป็นนักล่าที่เก่งที่สุด อีกคนหนึ่งอาจจะเป็นนักเล่าเรื่องที่สนุกที่สุด ส่วนอีกคนอาจจะเป็นนักรบที่องอาจที่สุด เด็กที่ออกมาจึงเป็น “ลูกของทุกคน” ในเผ่า (ชนเผ่าบารีในเวเนซูเอล่าก็ยังใช้ระบบ “พ่อหลายคน” นี้อยู่)

นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่โลกสมัยนี้อัตราการหย่าร้างสูงขึ้นทุกที เพราะเราอยู่กันเป็น “ครอบครัวใหญ่” มาหลายหมื่นปี เพิ่งจะมาใช้ระบบครอบครัวเล็กและความสัมพันธ์แบบผัวเดียวเมียเดียวมาเมื่อไม่กี่ร้อยหรือไม่กี่พันปีมานี้เอง (อ่านถึงตรงนี้ผมหวังว่าหลายๆ คนจะไม่ใช้ข้อมูลนี้เป็นข้ออ้างในการนอกใจนะครับ เพราะอย่างที่เตือนไว้ข้างต้นว่านี่เป็นเพียงสมมติฐาน แถมนักมานุษวิทยาอีกกลุ่มหนึ่งก็ออกมาค้านแนวคิดนี้ โดยชี้ประเด็นว่า การที่สังคมในปัจจุบันซึ่งอยู่ต่างสถานที่ ต่างวัฒนธรรมล้วนมีความสัมพันธ์แบบผัวเดียวเมียเดียว ก็เป็นหลักฐานที่บ่งบอกอยู่แล้วว่ามนุษย์เรานั้นเหมาะกับสังคมแบบนี้)

ชีวิตที่น่าอิจฉา

จะว่าไป ชาว foragers นั้นมีวิถีชีวิตที่น่าอิจฉากว่าคนสมัยนี้ในบางแง่มุมด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างหญิงชาวจีนที่มีฐานะยากจนในสมัยนี้ ชีวิตของเธอจะมีอะไรมากไปกว่าการตื่นนอนตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อไปนั่งทำงานอยู่ในโรงงานนรกเป็นเวลา 10-12 ชั่วโมง ก่อนจะกลับมาบ้านเพื่อทำอาหาร ล้างจาน ซักผ้าและล้มตัวนอนด้วยความเหน็ดเหนื่อย ก่อนจะต้องตื่นมาเจอวันเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เมื่อ 30,000 ปีที่แล้ว หญิงชาวจีนจะได้ออกจากแคมป์ไปพร้อมเพื่อนสาวหลายคน เพื่อเสาะหาผลหมากรากไม้ เก็บเห็ด ขุดมัน จับกบ หรือบางครั้งก็วิ่งหนีเสือ ตอนบ่ายๆ ก็กลับมาถึงแคมป์เพื่อทำอาหารกินกัน จากนั้นเธอก็จะมีเวลาเหลือเฟือ ที่จะมานั่งเมาธ์มอยและเล่นกับลูก นอกจากวิถีชีวิตที่จะชิลล์กว่าแล้ว Foragers ยังมีเรื่องน่าสนใจอีกหลายอย่าง

  • สมองใหญ่กว่า ใหญ่กว่าคนเราสมัยนี้ด้วยซ้ำ เพราะพวก foragers นั้นต้องทำอะไรเอง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอาวุธ จุดไฟ ทำอาหาร ล่าสัตว์ คัดผลไม้ที่ไม่มีพิษ ฯลฯ ทำให้เหล่า foragers ได้ใช้สมองแทบจะทุกส่วน ในขณะที่คนสมัยใหม่อย่างเราๆ ทำอะไรเองแทบไม่เป็นเลย เน้นแต่ใช้เงินซื้ออย่างเดียว

  • สุขภาพแข็งแรงกว่า ด้วยความที่ต้องออกล่าทุกวัน แต่ละวันก็ได้เหยื่อต่างกันไป คนกลุ่มนี้ จึงได้กินอาหารที่หลากหลายได้รับโปรตีนและวิตามินมากกว่า ขณะที่คนรุ่นหลังๆ ที่เป็นชาวไร่ชาวนา มักจะได้กินแต่ข้าวหรือแป้งชนิดใดชนิดหนึ่งทุกวัน

  • มีโรคระบาด โรคระบาดนั้นมักจะเริ่มมาจากสัตว์เลี้ยงก่อน แต่คนยุคนั้นยังไม่ได้เริ่มเลี้ยงสัตว์ (ยกเว้นหมา) แถมการที่ไม่มีการสต๊อกอาหารและการย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ ก็ทำให้ไม่มีหนูหรือสัตว์พาหะอื่นๆ มาก่อกวนหรือแพร่เชื้อได้

  • ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ เพราะไม่มีใครมีทรัพย์สินส่วนตัว จึงไม่มีการแก่งแย่งกัน ไม่มีการรบกับเผ่าอื่น เพื่อปล้นสะดมภ์ (เพราะไม่มีอะไรให้ปล้น) “ทรัพย์สิน” ที่สำคัญที่สุดที่คนๆ หนึ่งจะมีได้คือความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในเผ่า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักมานุษวิทยาได้ตั้งชื่อสังคม foragers นี้ว่าเป็น “The Original Affluent Society” – สังคมมั่งมีแบบดั้งเดิม

ยึดครองออสเตรเลียและอเมริกา

แม้รุ่นพี่อย่าง Neanderthals และ Homo erectus จะอาศัยอยู่ในทวีปยุโรปและเอเชียมาตั้งแต่ 2 ล้านปีก่อนหน้า แต่รุ่นพี่ทั้งสองยังไม่เคยไปถึงทวีปออสเตรเลียหรือทวีปอเมริกาเลย มนุษย์เซเปี้ยน เดินทางไปถึงออสเตรเลีย ได้ด้วยการเดินเรือเมื่อ 45,000 ปีที่แล้ว โดยอาจจะเริ่มจาก การต่อเรือและออกหาปลาอยู่ตาม หมู่เกาะนับร้อยนับพันของอินโดนีเซียและก่อนจะจับพลัดจับผลูไปลงเอยที่ชายฝั่งตะวันตกของทวีปออสเตรเลีย ส่วนทวีปอเมริกานั้น เหล่าเซเปี้ยนส์ไปถึงด้วยวิธีเดินเท้า เพราะสมัยนั้นระดับน้ำทะเลนั้นอยู่ในระดับต่ำ เสียจนเกิดแผ่นดินที่เชื่อมระหว่างไซบีเรีย (รัสเซีย) และอลาสก้า (อเมริกา) เหตุผลที่ Homo สายพันธุ์อื่นๆ ไม่เคยไปถึงอเมริกา ก็เพราะว่าไซบีเรียนั้นหนาวเกินไป แต่เซเปี้ยนส์นั้นฉลาดพอที่จะถักทอเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าหนาๆ ที่จะรองรับสภาพอากาศอันทารุณได้ จึงออกล่าสัตว์ใหญ่ที่มีสารอาหารเยอะอย่างแมมมอธและกวางเรนเดียร์ไปเรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีก็เดินทางมาถึงอลาสก้าเมื่อประมาณ 14,000 ปีที่แล้ว

การเดินไปทางไปถึงทวีปออสเตรเลียโดยเหล่า Homo Sapiens ถือเป็นการเดินทางที่มีนัยยะทางประวัติศาสตร์พอๆ กับการค้นพบทวีปอเมริกาของโคลัมบัส และการพิชิตดวงจันทร์ของยานอพอลโล 11 เหตุผลที่เหตุการณ์นี้สำคัญมาก ก็เพราะว่านี่เป็นครั้งแรกที่เผ่าพันธุ์มนุษย์ได้ขึ้นไปอยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร ในทวีปแอฟริกา ยุโรป หรือเอเชียนั้น เหล่า Homo ล้วนวิวัฒนาการมาพร้อมๆ กับสัตว์ชนิดอื่นๆ ร่วม 2 ล้านปี จึงรู้ทางหนีทีไล่กันดี แต่สัตว์ที่อยู่ในออสเตรเลียหรืออเมริกานั้นไม่เคยเจอเผ่าพันธุ์มนุษย์เลย มันจึงไม่มีสัญชาตญาณหรือทักษะใดๆ ที่จะต่อกร (หรือหลีกเลี่ยง) สิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ หน้าตาคล้ายลิงที่เดินสองขานี้

ออสเตรเลียเคยเป็นที่อยู่ของสัตว์ยักษ์จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นจิงโจ้สูง 2 เมตร, สิงโตที่มีกระเป๋าหน้าท้อง (marsupial lion), หมีโคอาล่าไซส์จัมโบ้ นกบินไม่ได้ที่ตัวใหญ่กว่านกกระจอกเทศสองเท่า และตัววอมแบทหนัก 2 ตัน ภายในเวลาแค่สองสามพันปีนับจากที่เหล่าเซเปี้ยนส์จอดเรือที่ชายฝั่งของทวีปออสเตรเลีย สัตว์ใหญ่ทั้งหลายเหล่านี้ก็สูญพันธุ์ สรรพสัตว์ในทวีปอเมริกาก็เจอชะตากรรมไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นแมมมอธ เสือเขี้ยวดาบ หนูตัวเท่าหมี สิงโตยักษ์ หรืออูฐอเมริกา (อเมริกาก็มีอูฐด้วย!) ต่างก็สูญพันธุ์ไปภายในเวลาไม่กี่พันปีหลังจากที่มนุษย์เข้ามายึดครองทวีปนี้

สัตว์ใหญ่ (ที่มีน้ำหนักเกิน 50 กิโลกรัม) มักจะโดนกระทบมากที่สุด เพราะมันไม่มีสัญชาติญาณในการระวังตัวจากมนุษย์ อีกสาเหตุหนึ่งก็คือสัตว์กลุ่มนี้มักมีลูกคราวละไม่กี่ตัวและใช้เวลาตั้งครรภ์นาน ทำให้อัตราการเกิดไม่เพียงพอจะชดเชยกับอัตราที่มันถูกฆ่าจากนักล่าสายพันธุ์ใหม่ เมื่อ 70,000 ปีที่แล้ว มีสัตว์ใหญ่อยู่ทั่วโลกประมาณ 200 สายพันธุ์ แต่เมื่อหนึ่งหมื่นปีที่แล้ว โลกใบนี้ก็เหลือสัตว์ใหญ่เพียง 100 สายพันธุ์เท่านั้น

พวกเราเหล่า Homo Sapiens จึงเป็นภัยคุกคามทางธรรมชาติที่ใหญ่หลวงที่สุดมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ในตอนหน้า เราจะเข้าสู่ยุคแห่งการทำเกษตรกรรม (Agricultural Revolution) ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อ 12,000 ปีที่แล้ว และได้ชื่อว่าเป็น “การหลอกลวงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์” – History’s Biggest Fraud กันครับ

ที่มา: https://anontawong.com.